การจัดทำแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ต.บัวมาศ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม

การจัดทำแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ต.บัวมาศ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม

อาจารย์พิราภรณ์ พันธุ์มณีสำนักศิลปะและวัฒนธรรม

ประเภทของผลงาน       ด้านศิลปะและวัฒนธรรม สืบสานความเป็นไทย


ความริเริ่มในการสร้างสรรค์ผลงาน / แรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน

     สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของ ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม พบว่าเป็นพื้นที่ที่มีประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่น และมีโบราณสถานที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านอย่าง กู่บัวมาศ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้แล้วนั้น ในชุมชนเองก็มีความสมัครสมานสามัคคี ร่วมใจ ที่จะพัฒนาชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
      โดยที่ตำบลบัวมาศ เป็นชุมชนแห่งอารยธรรม ทั้งด้านประเพณี ด้านวัตถุ  และวิถีชีวิต เช่นมีการจัดเก็บคัมภีร์ใบลานโบราณ และวัตถุโบราณต่างๆ ซึ่งจากการสอบถามและพูดคุยกับผู้นำชาวบ้าน และปราชญ์ชาวบ้านเอง ชาวบ้านนั้นมีสิ่งของที่เป็นของเก่า ของโบราณ ที่คู่ควรแก่การจัดแสดงให้คนทั่วไปได้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชน อีกทั้งยังมีประวัติความเป็นมาของตำนานการเกิดเมืองบัวมาศที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
      สำนักศิลปะและวัฒนธรรม จึงได้เล็งเห็นว่า ชุมชนบัวมาศควรมีพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณี วัตถุโบราณ วิถีชีวิตของชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา อีกทั้งยังการเตรียมตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยว และการสร้างโอกาสในการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นวิทยากรชุมชน การดูแลรักษาวัตถุโบราณ ซึ่งจะทำให้คนในชุมชน และคนรุ่นใหม่ มีความภูมิใจและสำนึกรักบ้านเกิดมากยิ่งขึ้น

วิธีดำเนินการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน

      สำนักศิลปะและวัฒนธรรม นำโดย อ.พิราภรณ์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมสำรวจความต้องการและกำหนดพื้นที่ในการจัดพิพิธภัณฑ์ชุมชน ที่ให้นักศึกษาลงพื้นที่สำรวจความต้องการ และความร่วมมือของชุมชน ในการร่วมจัดทำพิพิธภัณฑ์ พบว่าชาวบ้านมีความร่วมมือเป็นอย่างดีที่จะนำเอาเครื่องมือ เครื่องใช้โบราณ มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของชุมชน ณ วัดสว่างบัวมาศ ต.บัวมาศ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ซึ่งจะนำเอาศาลาเก่าของวัด มาปรับปรุงเพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ จากนั้นนักศึกษาก็ได้ทำการออกแบบการจัดเก็บฐานข้อมูลของชาวบ้านที่จะนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์ และมีการออกแบบหมวดหมู่ในการจัดวางสิ่งของหรือชิ้นงานของชาวบ้าน และการออกแบบการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการเกิดบัวมาศ ในพิพิธภัณฑ์ในดูน่าสนใจ
      จากนั้นสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อสร้างวิทยากรชุมชน โดยนำวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่ชาวบ้านถึงการเป็นวิทยากร หรือไกด์นำเที่ยวที่ดีในการพูดนำเสนอ และอธิบายสิ่งของหรือเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ ให้ผู้ฟัง หรือผู้เยี่ยมชมนั้นประทับใจและเข้าใจเรื่องราวนั้นๆ ได้เพราะเมื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้น ชาวบ้านต้องเป็นไกด์คอยแนะนำและเล่าเรื่องราวให้กับผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นแนวทางในการสร้างรายได้อีกทางของชุมชน
      อีกทั้งสำนักศิลปะและวัฒนธรรมได้จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการเก็บรวบรวมและดูแลชิ้นงาน/สิ่งของ โดยให้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการรวบรวม เจ็ดเก็บ และดูแลรักษาชิ้นงานหรือสิ่งของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ เพราะเมื่อมีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นทางชาวบ้านเองต้องเป็นผู้คอยดูแล ทำความสะอาด และจัดเก็บ ให้พิพิธภัณฑ์ให้น่าสะอาด และพร้อมเข้าเยี่ยมชมเสมอ  
      เมื่อได้จัดทำแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์เสร็จเป็นที่เรียบร้อย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ต.บัวมาศ ขึ้น ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 โดยได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย และเรียนเชิญชาวบ้าน อบต. และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามเข้าร่วมงาน พร้อมทั้งเชิญสื่อมวลชนหลายๆที่เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ให้รู้จักแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ต.บัวมาศ
      โดยการเปิดงานมีการรำจากชาวบ้าน โดยใช้ท่ารำบวงสรวงกู่บัวมาศ ที่ทางสำนักศิลปะและวัฒนธรรมได้สร้างสรรค์ไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน จากนั้นได้รับเกียรติเปิดงานโดยท่านรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบัวมาศ ผู้เข้าร่วมงานได้ขึ้นเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ต.บัวมาศ โดยมีชาวบ้านที่ได้ร่วมอบรมเป็นไกด์คอยอธิบายและนำเที่ยวในพิพิธภัณฑ์

องค์ความรู้/ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการ

      จากการจัดกิจกรรมของโครงการนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ที่มีทั้งมุมเล่าเรื่องราวประวัติที่มาการเกิดชุมชนบัวมาศ มุมเครื่องดนตรีโบราณ มุมใบลานโบราณ มุมวิถีชีวิตโบราณทั้งเครื่องมือในการทำมาหากิน และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและมุมผ้าทอโบราณ นอกจากนั้นการให้ความรู้ชาวบ้านด้านการเป็นวิทยากรชุมชน และการจัดเก็บดูแลรักษาพิพิธภัณฑ์ ชาวบ้านต่างได้เรียนรู้และได้นำมาใช้จริงในวันเปิดตัว และกิจกรรมประชาสัมพันธ์เปิดตัวแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน นั้นก็ทำให้พิพิธภัณฑ์และต.บัวมาศเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
      ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จทั้งการบูรณาการการเรียนการสอน การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม การสร้างแหล่งเรียนรู้ รวมไปถึงการสร้างความภูมิใจและรักในชุมชนของเยาวชนและชาวบ้านได้อีกด้วย เห็นได้จากผลการประเมินความพึงพอใจต่อแหล่งเรียนรู้ ที่อยู่ในระดับดีมาก

การนำไปสู่การไปใช้ประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย

      จากการสร้างแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ต.บัวมาศ ชาวบ้านชุมชนบัวมาศ ต่างมีความภูมิใจและรักในชุมชนของตัวเอง อีกทั้งยังได้แหล่งท่องเที่ยวใหม่ในชุมชนอีกด้วย
      นอกจากนั้นแล้วสำนักศิลปะและวัฒนธรรมยังให้ความรู้ในการเป็นวิทยากรชุมชน การจัดเก็บ ดูแลและรักษาพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นการสร้างฐานในการต่อยอดให้ชุมชนได้มีรายได้ในอนาคต จากการประชาสัมพันธ์และเปิดตัวแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ต.บัวมาศ ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยการจัดทำวีดีโอเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ชุมชน ต.บัวมาศ และการทำข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางข่าวชุมชน เพื่อสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนในอนาคต และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนได้

แนวปฏิบัติที่ดีของผลงาน  

      ผลงาน การจัดทำแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ต.บัวมาศ นี้เป็นแนวปฏิบัติที่ดีทางด้านการอนุรักษ์ พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนได้ใช้งานจริง และต่อยอดให้สร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน จากการจัดทำวีดีโอ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ชุมชน ต.บัวมาศ (https://www.youtube.com/watch?v=OHU7GncmNI0&t=20s) และการจัดการทำข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางข่าวชุมชนที่หลากหลาย เช่น สำนักข่าวเดอะไทยเพรส, ช่อง CCNew-Live, ช่อง TalkNewsOnline.com และช่องเจมส์ทีวี เป็นต้น และโครงการนี้ยังมีการทำวีดีโอประมวลภาพการจัดพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สู่ชุมชน ต.บัวมาศ (https://www.youtube.com/watch?v=iKqzzuBxtA8)