ฟ้อนมะคำป่ากุสุมาสะดืออีสาน

ฟ้อนมะคำป่ากุสุมาสะดืออีสาน

อาจารย์อนุชิต สีโมรส สาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ประเภทของผลงาน       ด้านศิลปะและวัฒนธรรม สืบสานความเป็นไทย


ความริเริ่มในการสร้างสรรค์ผลงาน / แรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน

           เพื่อสร้างสื่อประชาสัมพันธ์จากอัตลักษ์ประจำอำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม คือ ดอกมะคำป่า ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น  อัตลักษณ์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหรือกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะตัวหรือจุดเด่นของบุคคล  องค์กรและสถานที่  เพื่อให้เป็นที่รู้จักและดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย  โดยในยุคปัจจุบันที่มีการใช้กลยุทธ์ต่างๆ แข่งขันกัน 
          การประชาสัมพันธ์จะช่วยให้บุคคล  องค์กร  และสถานที่  สามารถสื่อสารอัตลักษณ์ของตนให้เป็นที่รู้จักแก่กลุ่มเป้าหมายในจำนวนที่มากขึ้น  ในระยะเวลาอันรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายจะมีพฤติกรรมการเปิดรับและดารตอบสนองต่อการสื่อสารอัตลักษณ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสื่อที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์  ได้แก่ สื่อบุคคล  สื่อเฉพาะกิจ  สื่อมวลชน  สื่ออินเตอร์เน็ต  และสื่ออื่นๆ  ดังนั้น  บุคคล  องค์กร  และสถานที่  จึงควรให้ความสำคัญกับการใช้สื่อในการประชาสัมพันธ์แต่ละครั้ง
          จากที่กล่าวมาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของสถานที่ท้องถิ่นเพื่อนำมาประชาสัมพันธ์นำมาสู่การตีความหมายสำหรับการออกแบบสร้างสรรค์ชุดการแสดงในพิธีการต่างๆ ก็จะช่วยสร้างคุณค่าเชิงการคิดสร้างสรรค์ให้กับผลงานที่นำมาประชาสัมพันธ์ให้มีคุณค่าและประสิทธิภาพของชุดการแสดงนั้นๆ
          การฟ้อนของภาคอีสาน  เป็นศิลปะที่เกิดจากการเลียนแบบ  ท่าทางการทำมาหากิน การทำงาน
ในชีวิตประจำวันของชาวอีสาน ซึ่งลักษณะการฟ้อนรำมีความเรียบง่าย กระฉับกระเฉง ไม่ค่อยมีความอ่อนช้อย  แต่มีท่าทางและลีลางดงาม  การฟ้อนรำของชาวอีสานมีมากมายหลายอย่างซึ่งแตกต่างกันออกไปตามสภาพท้องถิ่น  และความเป็นอยู่ของกลุ่มชน  เช่น  ฟ้อนเซิ้ง ฟ้อนภูไทย  กระโน้บติงตอง  เรือมอันเร  (จารุวรรณ  ธรรมวัตร. 2530 : 109-128) 
          ทักษะความคิดสร้างสรรค์จึงหมายถึงผลงานที่ใช้ทักษะการคิดค้นใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำแบบใคร โดยสร้างขึ้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกทางศิลปะ  และการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย อย่างประณีต  อ่อนช้อยจนเกิดความงดงามวิจิตรบรรจงซึ่งต้องสร้างสรรค์ให้สมบูรณ์และเหมาะสมตามองค์ประกอบของนาฏศิลป์  เพื่อให้การแสดงนาฏศิลป์มีคุณค่าและสามารถสร้างความบันเทิง  ความเพลิดเพลินใจให้กับผู้ชมได้  (โกวิท ประวาลพฤกษ์  และคณะ. 2545)  การแสดงที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่  จะคำนึงถึงความเหมาะสมในการนำไปใช้  ส่วนมากได้แนวมาจากสภาพความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน  การทำมาหากิน  อุตสาหกรรม  ขนบธรรมเนียม  ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น  ที่แสดงออกเพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของตน  ซึ่งอาจเรียกการฟ้อนรำแบบที่ปรับปรุงขึ้นว่า “การฟ้อนพื้นบ้าน ” (อมรา  กล่ำเจริญ.  2526 : 48)
          แนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน  ได้มาจากการตระหนักถึงคุณค่าประวัติความเป็นมาอำเภอโกสุมพิสัยตั้งอยู่ในจังหวัดมหาสารคามที่มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี  อันเกิดจากการมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา  ที่ส่งผลทำให้มีการสร้างวัฒนธรรมที่ยาวนาน  ตามบันทึกพงศาวดารหัวเมืองอีสานส่วนที่เกี่ยวข้องกับโกสุมพิสัย  ในปีมะเส็ง พ.ศ. 2425 จุลศักราช 1243 รัตนโกสินทร์ศก 100  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองส่วนท้องถิ่น  พระเจริญราชเดช เจ้าเมืองมหาสารคาม ในขณะนั้น  เห็นว่าควรขอตั้งบ้านดงวังท่าหอขวาง ขึ้นเป็น “เมืองโกสุมพิสัย”  ในการขอตั้งเมืองโกสุมพิสัยนี้  ตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานกล่าวไว้ว่าพระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคามได้แต่งตั้งให้ท้าวสุริยวงษานำใบบอกพร้อมเครื่องราชบรรณาการลงไปทูลละอองธุลีพระบาท  รัชการที่ 5 ซึ่งเครื่องบรรณาการ  ใช้เงินทำเป็นรูปดอกมะคำป่า  เพราะถิ่นนี้มีแต่ดอกมะคำป่าจำนวนมาก  จึงพระราชทานนามว่า “โกสุมพิสัย”  ซึ่งแปลว่า  แดน  หรือ  ที่อยู่แห่งต้นมะคำป่า (สภาวัฒนธรรมอำเภอโกสุม.  2548 : 11-14 )
          สภาวัฒนธรรมตำบลหัวขวาง  อำเภอโกสุมพิสัย  จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)  ได้ศึกษาและตรวจสอบชนิดพันธุ์ต้นมะคำป่าของอำเภอโกสุมพิสัย  ซึ่งเป็นพืชที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การตั้งชื่ออำเภอโกสุมพิสัย  แต่ยังขาดข้อมูลยืนยันว่าเป็นพืชชนิดใด  มีลักษณะอย่างไร  เคยมีอยู่หรือพบได้ที่ใดบ้างนั้น  การนี้ อพ.สธ. ได้มอบหมายให้นักพฤษศาสตร์ อพ.สธ. ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว  โดยการสืบค้นข้อมูลเรื่องชื่อและบริเวณที่พบ จากเอกสาร  เว็บไซด์  และจากการที่ได้พูดคุยกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม  ที่เคยศึกษาพืชชนิดหนึ่งที่พบปริมานน้อยมากในจังหวัดมหาสารคามสามารถนำผลไปจุดไฟให้ติดได้  เมื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่ได้รวบรวมมา  สันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะหมายถึงต้นทอง (ชื่อที่เรียกในพื้นที่)  โดยมีรายงานว่าพบต้นอยู่ในพื้นที่วนอุทยานโกสัมพี  ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย  ประกอบกับชื่อพื้นเมืองที่เรียกพืชชนิดนี้โดยทั่วไป  คือ  ประคำไก่  มะคำไก่ มะคำดีไก่  มักค้อ  มะองนก  ซึ่งมีชื่อที่พ้องกันกับชื่อ  มะคำป่า
          จากที่กล่าวมา ประกอบกับผู้สร้างสรรค์เป็นคนในพื้นที่อำเภอโกสุมพิสัยโดยกำเนิด  ซึ่งได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของอำเภอโกสุมพิสัย  ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่เป็นสื่อตัวแทนของอำเภอโกสุมพิสัย  นั้นก็คือ  มะคำป่า  ดอกไม้ประจำอำเภอโกสุมพิสัย  ที่หมายถึงดินแดนแห่งดอกมะคำป่า  อีกทั้งบริเวณที่ตั้งของอำเภอโกสุมพิสัย  ปัจจุบันยังได้ชื่อว่าศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไป  คือ  สะดืออีสาน จึงทำให้เกิดความสนใจและเลือกศึกษา  โดยศึกษาแนวความคิดสร้างสรรค์ชุดการฟ้อนของภาคอีสาน  ซึ่งได้มีการประดิษฐ์ลีลาท่ารำ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง  โดยนำความรู้และทักษะพื้นฐานทางนาฏศิลป์มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและมีความหลากหลาย  แปลกใหม่  อันเป็นการแสดงถึงลักษณะความสวยงามของดอกมะคำป่า  สื่ออัตลักษณ์ท้องถิ่น  ประจำอำเภอโกสุมพิสัย เพื่อผลการศึกษาที่ได้จะได้นำไปเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่สนใจนำไปอนุรักษ์เผยแพร่ความรู้และส่งเสริมในการฟ้อนชุดฟ้อนออนซอนมะคำป่ากุสุมาสะดืออีสาน  เป็นการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอโกสุมพิสัย  จังหวัดมหาสารคาม  ให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไปและผู้สนใจศึกษาได้รับทราบและใช้ประโยชน์ในโอกาสต่อไป

วิธีดำเนินการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน

          ในการดำเนินการสร้างการแสดง ชุด  ฟ้อนออนซอนมะคำป่ากุสุมาสะดืออีสาน ได้ศึกษาผลงานด้านการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านที่แตกต่างและไม่มีมาก่อน  เพื่อให้ผลงานมีประสิทธิภาพและคุณภาพเป็นที่ยอมรับ จึงได้กำหนดประชากร  กลุ่มตัวอย่าง  ตัวแปร  เครื่องมือในการวิจัย วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล  การวิเคราะห์  และการสร้างสรรค์ข้อมูล  อภิปราย  และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
               ขั้นที่ 1 การศึกษาปัญหา พบว่า มะคำป่า เป็นต้นไม้ที่ไม่มีผู้ทราบข้อมูลที่ชัดเจน
               ขั้นที่ 2 ขั้นเตรียมการออกแบบการแสดงพื้นบ้านอีสานสร้างสรรค์  ฟ้อนออนซอนมะคำป่ากุสุมาสะดืออีสาน  ได้สำรวจแหล่งข้อมูล 3 แหล่ง คือ บุคลากรในท้องถิ่น (Primary – data)  ได้แก่  ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา  และที่มาของดอกมะคำป่า  สถานที่อันเป็นศูนย์รวมเอกสารประกอบการค้นคว้า (Secondary – data) จากสำนักวิทยบริการต่างๆ และสื่ออินเตอร์เน็ต (Internet communication) พอที่จะสร้างสรรค์ได้โดยยึดโครงสร้างองค์ประกอบบางส่วนของการแสดงพื้นบ้านอีสาน  ส่วนที่แตกต่างหรือสร้างขึ้นมาใหม่  ซึ่งประกอบด้วยที่มาหรือเนื้อหาของการแสดง
               ขั้นที่ 3 ขั้นประกอบการสร้าง  การแสดงพื้นบ้านอีสานสร้างสรรค์  ฟ้อนออนซอนมะคำป่ากุสุมาสะดืออีสาน  นำผลการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นนำมาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขใหม่แล้วนำไปถ่ายภาพวีดีทัศน์ลงในแถบ (เทป CD หรือ DVD) และการสร้างแบบสอบถามเพื่อประเมินผล และนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญชมและประเมินผลด้านความคิดสร้างสรรค์
               ขั้นที่ 4 ขั้นประชาพิจารณ์ ได้สร้างแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง  โดยจะประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ นำผลการประเมินของผู้เชี่ยวชาญมาตีค่าผลงานปรับปรุง  เรียบเรียง  รายงานผลการวิจัยเป็นแบบ  พรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive analysis)

องค์ความรู้/ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการ

          ได้ชุดการแสดงที่เป็นอัตลักษ์ ประจำอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
               1. ได้ศึกษาข้อมูลประวัติความเป็นมาของอำเภอโกสุมพิสัย
               2. ได้เก็บบันทึกภาพการแสดงด้วยวีดีทัศน์และภาพนิ่ง
               3. ได้ตรวจสอบท่ารำจากครูสอนนาฏศิลป์ในเขตเทศบาลอำเภอโกสุมพิสัย
               4. สร้างสรรค์ผลงานเพื่อแสดงเผยแพร่แก่สายตาประชาชน

การนำไปสู่การไปใช้ประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย

          ได้นำไปเป็นสื่อการเรียนการสอน ที่โรงเรียนโกสุมวิทยาสรรค์

แนวปฏิบัติที่ดีของผลงาน

          เป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมด้านการแสดงนาฏศิลป์พิ้นบ้านอีสาน ให้มีเอกลักษณ์ ประจำอำเภอโกสุมพิสัย และสืบสานต่อไป