แนวทางการจัดกิจกรรมออกค่ายวิทยาศาสตร์ฯ ให้กับโรงเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

แนวทางการจัดกิจกรรมออกค่ายวิทยาศาสตร์ฯ ให้กับโรงเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

อาจารย์ ดร.สมสุข ไตรศุภกิตติ รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์ฝ่ายวิชาการศูนย์วิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประเภทของผลงาน       ด้านบริหารจัดการและประกันคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ


ความริเริ่มในการสร้างสรรค์ผลงาน / แรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน

            เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้บางสถานศึกษายังไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้แบบปกติ หรือบางสถานศึกษาเปิดการเรียนการสอนได้เฉพาะบางห้องเรียนเท่านั้น ณ สถานที่ตั้งแบบออนไซต์ (On-Site) ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมออกค่ายวิทยาศาสตร์ฯ ให้กับโรงเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทางสถานศึกษามีความต้องการที่จะพาครูและนักเรียนมายังมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดยทางศูนย์วิทยาศาสตร์ได้ออกแบบแนวทางในการจัดกิจกรรมออกค่ายวิทยาศาสตร์ฯ ในรูปแบบกิจกรรมนิวนอร์มอล (New-Nornal Activity) ซึ่งได้เริ่มใช้กับโรงเรียนบรบือวิทยาคารเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยมียอดจำนวนนักเรียนที่แจ้งมา 86 คน และครูผู้ติดตามจำนวน 8 คน กิจกรรมออกค่ายฯ ทั้งสองวันได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ร่วมกันระหว่างโรงเรียนและศูนย์วิทยาศาสตร์

วิธีดำเนินการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน

            แนวทางการจัดกิจกรรมออกค่ายวิทยาศาสตร์ฯ ให้กับโรงเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีขั้นตอนการดำเนินงานหลักๆ อยู่ 3 ขั้นตอน ดังนี้

            ขั้นที่ 1 ระยะเตรียมการก่อนมามหาวิทยาลัยฯ
                  ในขั้นตอนนี้ทางตัวแทนของศูนย์วิทยาศาสตร์และตัวแทนโรงเรียน จะทำข้อตกลงจากการเจรจาร่วมกันในข้อปฏิบัติที่ทางโรงเรียนจะต้องปฏิบัติและส่งผลการดำเนินงานให้กับทางศูนย์วิทยาศาสตร์ก่อนมาออกค่ายฯ ดังนี้
                        1. ครูและนักเรียนทุกคน จะต้องส่งข้อมูลทั่วไปจากการคีย์ข้อมูลบนลิงค์ google form ก่อนมาภายใน 7 วัน โดยข้อมูลดังกล่าวจะใช้ในการทำแบบลงทะเบียนการออกค่ายฯ และการออกเกียรติบัตรการออกค่ายฯ
                        2. ครูและนักเรียนทุกคน จะต้องส่งแบบประเมินการคัดกรองโรคระบาดโควิด-19 บนลิงค์ google form ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนมาออกค่ายฯ เพื่อจัดทำประวัตินักเรียน
                        3. ศูนย์วิทยาศาสตร์ ตรวจสอบสถานที่ ทำความสะอาดอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการทดลอง ตลอดจนตรวจสอบอ่างล้างมือให้มีเพียงพอ อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน รวมถึงหน้ากากสำรอง เจลล้างมือ สบู่ล้างมือที่เพียงพอ
                        4. ศูนย์วิทยาศาสตร์จัดสถานที่เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เช่น การจัดที่นั่งในพิธีเปิด/ปิดห้องปฏิบัติการทดลอง ห้องรับประทานอาหาร และห้องพัก เป็นต้น

            ขั้นที่ 2 ช่วงระหว่างอยู่การออกค่ายฯ ที่มหาวิทยาลัยฯ
                  ในระหว่างการออกค่ายฯ มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
                        1. เมื่อครูและนักเรียนมาถึงอาคารที่ใช้ในการออกค่ายฯ ทุกคนสวมหน้ากากและได้รับการตรวจอุณหภูมิและล้างมือด้วยเจลล้างมือ
                        2. ในห้องพิธีเปิด เป็นห้องเรียนรวมขนาดใหญ่ โดยนักเรียนนั่งห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร และใช้เวลาในพิธีเปิดไม่เกิน 10 นาที
                        3. ครูผู้ติดตามจะพักอยู่ห้องรับรอง นักเรียนจะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มๆ ละไม่เกิน 30 คนในแต่ละชั้นและการลงปฏิบัติการทดลองจะมีการแบ่งกลุ่มย่อย กลุ่มละไม่เกิน 5 คน ในแต่ละห้องและมีจำนวนไม่น้อยกว่า 6 กลุ่มย่อย ทุกห้องจะมีเจลล้างมือประจำห้องและหน้ากากไว้สำรองให้
                        4. ช่วงเวลาอาหารว่างและอาหารกลางวัน นักเรียนทุกคนที่ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม จะอยู่ห้องเรียนรวมในแต่ละชั้น ไม่มีสันทนาการ อาหารว่างและอาหารกลางวันแยกเป็นชุด อยู่ในห้องพักรวมและ/หรือพื้นที่ใกล้เคียงเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตรในแต่ละกลุ่มย่อย รอจนกระทั่งถึงเวลาปฏิบัติการทดลองเวลา 13.00 น. จะมีสต๊าฟพาไปห้องปฏิบัติการถัดไป และมีการตรวจอุณหภูมิและล้างมือด้วยเจลล้างมือ
                        5. ในช่วงบ่ายของวันสุดท้ายในการออกค่ายฯ ทุกกลุ่มย่อยจะได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 แนวทางการป้องกัน และลงปฏิบัติการทำเจลล้างมือ
                        6. หลังการลงปฏิบัติการทำเจลล้างมือ ครูและนักเรียนจะได้ผลิตภัณฑ์กลับนำไปใช้ และทำแบบประเมินการออกค่ายฯ บนลิงค์ของ google form
                        7. ในห้องพิธีปิด เป็นห้องเรียนรวมขนาดใหญ่ โดยครูและนักเรียนนั่งห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร และใช้เวลาในพิธีปิดไม่เกิน 10 – 15 นาที โดยมีการมอบเกียรติบัตรให้แก่ตัวแทนประจำกลุ่ม จำนวน 3 กลุ่มหลักเท่านั้น (คือตัวแทนชั้น ม.1 ม.2 และ ม.3)
                        8. ระหว่างการถ่ายภาพหมู่ในพิธีปิด จะสวมหน้ากากตลอดเวลา
                        9. ก่อนขึ้นรถกลับโรงเรียน สต๊าฟจะทำการตรวจอุณหภูมิและล้างมือด้วยเจลล้างมือให้กับครูและนักเรียนทุกคน

                  หมายเหตุ

                        – ถ้ามีบุคคลใดที่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก มีไข้ ทางสต๊าฟจะรีบทำการกักตัวและแจ้งให้ครูรับทราบ
                        – ใบลงทะเบียน จะแยกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกัน โดยสต๊าฟจะให้ลงทะเบียนแต่ละกลุ่มหลังจากมีเวลาว่างจากการรับประทานอาหารกลางวัน ใบลงทะเบียนได้พิมพ์ชื่อ-นามสกุลไว้แล้ว เหลือแค่ลงลายมือชื่อเท่านั้น
                        – การรับประทานอาหารว่าง อาหารกลางวัน จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละไม่เกิน 5 คน และอยู่ห่างกันมากกว่า 2 เมตร ซึ่งห้องรับประทานอาหารในห้องเรียนรวมมีพื้นที่กว้างขวาง

                  ขั้นที่ 3 หลังกลับจากมหาวิทยาลัยฯ
                       1. กรณีออกค่ายฯ สองวัน เมื่อเสร็จสิ้นวันแรก ก่อนขึ้นรถกลับโรงเรียน ครูและนักเรียนจะได้รับการตรวจอุณหภูมิและล้างมือด้วยเจลล้างมือก่อนขึ้นรถกลับ และวันที่สองก่อนกลับก็ปฏิบัติเช่นกัน
                       2. หลังจากที่เสร็จสิ้นในแต่ละวัน ทางสต๊าฟจะมีการพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคที่ลูกบิดประตูโต๊ะห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมความพร้อมในวันถัดไป
                        3. เมื่อเสร็จสิ้นการออกค่ายฯ แล้ว มีการทำความสะอาดห้องและสถานที่ด้วยการพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคที่ลูกบิดประตู โต๊ะห้องปฏิบัติการ และที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

องค์ความรู้/ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการ

            การเฝ้าระวังการติดต่อโรคระบาดโควิด-19 ทั้งก่อน ระหว่างการออกค่าย และหลังสิ้นสุดการออกค่ายฯ พบว่านักเรียนทุกคนให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยไม่พบผู้ติดเชื้อและผู้ที่อยู่ในอาการของกลุ่มเสี่ยง โดยจากผลการประเมินในการออกค่ายฯ ที่นักเรียนได้ประเมิน บ่งบอกให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการอยู่ในระดับ ดีมาก มีค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 4.61±0.45 โดยนักเรียนมีความสนใจในการออกค่ายฯ ในครั้งถัดไป คิดเป็น 97.06%

การนำไปสู่การไปใช้ประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย

            จากขั้นตอนการดำเนินงานที่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ทุกคนห่างไกลจากโรคระบาดโควิด-19 สามารถนำแนวทางการจัดกิจกรรมออกค่ายวิทยาศาสตร์ฯ ให้กับโรงเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในรูปแบบการจัดกิจกรรมแบบนิวนอร์มอล (New-Nornal Activity) ไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนอย่างเคร่งครัด โดยก่อนมาออกค่ายฯ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์เฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในแบบคัดกรองที่เป็นหัวใจหลัก ซึ่งคำถามในการเฝ้าระวังโรคระบาดโควิด-19 ที่สำคัญมีดังนี้
                  1. นักเรียนมีอาการ “ไข้” หรือไม่
                  2. นักเรียนมีอาการ “ไอ” หรือไม่
                  3. นักเรียนมีอาการ “น้ำมูก” หรือไม่
                  4. นักเรียนมีอาการ “เจ็บคอ” หรือไม่
                  5. นักเรียนมีอาการ “ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส” หรือไม่
                  6. นักเรียนมีอาการ “หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย หรือหายใจลำบาก” หรือไม่
                  7. นักเรียนมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโรคระบาดโควิด-19 (ภายในช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา) หรือไม่
                  8. นักเรียนใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงสูงโรคระบาดโควิด-19 อยู่ใกล้กันไม่เกิน 1 เมตร นานเกิน 15 นาที (ภายในช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา) หรือไม่
                  9. นักเรียนรับประทานอาหารและหรือมีกิจกรรมในสถานที่เดียวกัน และในช่วงเวลาเดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันโรคระบาดโควิด-19 ที่ราชการประกาศให้มาเข้ารับการสอบสวนโรค

                  หมายเหตุ : กรณีที่บุคคลจากโรงเรียนและทีมศูนย์วิทยาศาสตร์มีความเสี่ยงทั้ง 9 ข้อนี้ ไม่อนุญาตให้มาออกค่าย

แนวปฏิบัติที่ดีของผลงาน  

            ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นสามารถแสดงสาระสำคัญของแนวทางการจัดกิจกรรมออกค่ายวิทยาศาสตร์ฯ ให้กับโรงเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในรูปแบบการจัดกิจกรรมแบบนิวนอร์มอล (New-Nornal Activity) โดยแนวปฏิบัติที่ดี ดังนี้

            โรงเรียน

                  ตรวจสอบการเฝ้าระวังโรคระบาดโควิด-19 ทุกคนอย่างเคร่งครัด
                  ติดตามการส่งข้อมูลการลงทะเบียนของนักเรียนทุกคน
                  ติดตามการส่งข้อมูลการคัดกรองการเฝ้าระวังโรคระบาดโควิด-19

            ศูนย์วิทยาศาสตร์

                  ตรวจสอบการเฝ้าระวังโรคระบาดโควิด-19 ของครู นักเรียน และทีมงาน จากวันแรกจนถึงวันสิ้นสุดการออกค่ายฯ ในทุกๆ กิจกรรม

            หลังสิ้นสุดการออกค่ายฯ

                  ติดตามข้อมูลความเสี่ยงในการติดต่อโรคระบาดโควิด-19 ของครู นักเรียน และทีมงานทำความสะอาดอุปกรณ์และสถานที่ โดยการพ่นสเปร์แอลกอฮอล์