การวิจัยเพื่อนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานชุดฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี เพื่อประชาสัมพันธ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

การวิจัยเพื่อนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานชุดฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี เพื่อประชาสัมพันธ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

อาจารย์พิมพ์วลัญช์ พลหงษ์      คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ประเภทของผลงาน       ด้านการวิจัยและนวัตกรรม


ความริเริ่มในการสร้างสรรค์ผลงาน / แรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน

     การวิจัยเพื่อนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน ชุดฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี  เพื่อประชาสัมพันธ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ผู้สร้างสรรค์ได้รับแรงบันดาลใจจากงานหัตถกรรมการทอเสื่อกกของชุมชนบ้านแพง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีหัตถกรรมการทอเสื่อกกที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนโดยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาหลายรุ่น จนสามารถยกระดับเป็นหมู่บ้านนวัตวิถี ทางจังหวัดมหาสารคามมีนโยบายในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดง โดยเฉพาะการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาขับเคลื่อนในการสร้างนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความเจริญของชุมชนในอนาคต ในแผนพัฒนาจังหวัดมหาสารคามได้ส่งเสริมให้มีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ (1) “ต่อยอด อดีต” โดยมองกลับไปที่รากเหง้าทางเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย  รวมทั้งความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศในด้านอื่น ๆ นำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ (2) “ปรับปัจจุบัน” เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและดิจิทัล และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคตและ (3) “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่รวมถึงปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ผสมผสานกับยุทธศาสตร์ที่รองรับอนาคตบนพื้นฐานของการต่อยอดอดีตและปรับปัจจุบัน พร้อมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ ขยายโอกาสทาง การค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดีรวมถึงการเพิ่มขึ้นของคนชั้น กลางและลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศได้ในคราวเดียวกัน
     จากการที่ผู้สร้างสรรค์ได้ชมผลงานการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานจากสถาบันอื่นๆ ที่มีการเผยแพร่ลงในสื่อโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมจนมียอดคนดูเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการสร้างชื่อให้เราได้รู้จักสถาบันนั้นๆ และสามารถรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ จากถึงสิ่งที่การแสดงต้องการสื่อถึงผู้ชม ดังนั้น ผู้สร้างสรรค์ ในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชานาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานสร้างสรรค์ จึงเกิดแรงบันดาลใจ ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชน โดยใช้รูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน ชุด ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้เรื่องหัตถกรรมการทอเสื่อกก สู่การสร้างนวัตกรรมการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานจากทุนวัฒนธรรมในชุมชนซึ่งเป็นการต่อยอดอดีต  ปรับปัจจุบันโดยการสร้างนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานโดยกำหนดรูปแบบการแสดงให้มีความสอดคล้องตามยุคสมัย และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต จากการประชาสัมพันธ์นวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานผ่านเวทีการแสดงและสื่อสังคมออนไลน์  เป็นการสนองนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาจังหวัดมหาสารคาม สร้างองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน และด้านการเรียนการสอน รวมถึงการสืบทอดมรดกทางศิลปะการแสดง

วิธีดำเนินการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน

     การวิจัยเพื่อนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานชุด ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถีเพื่อประชาสัมพันธ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคามได้กำหนดขั้นตอนในการดำเนินงาน  ดังนี้

ลำดับกิจกรรม/ขั้นตอนการดำเนินงานระยะดำเนินการ
1.เลือกเรื่องและกำหนดปัญหางานวิจัยธันวาคม 2563
2.ศึกษาและค้นคว้าหัวข้อการทำวิจัยธันวาคม 2563
3.ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน จากผู้เชี่ยวชาญ,เอกสาร,แนวคิด,ทฤษฎี,และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องธันวาคม 2563
4.ลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามกุมภาพันธ์ 2564
5.รวบรวมข้อมูล จัดหมวดหมู่ข้อมูล เพิ่มเติมในส่วนที่ไม่ชัดเจน และวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยมีนาคม 2564
6.ผลิตนวัตกรรมการสร้างสรรค์นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานชุด ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถีและนำเสนอต่อที่ปรึกษาการวิจัยพฤษภาคม 2564
7.เผยแพร่ผลงานนวัตกรรมการสร้างสรรค์นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานชุด ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถีพฤศจิกายน 2564
8.สรุปผลและอภิปรายผลการวิจัยมกราคม 2565
9.จัดทำรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์และตีพิมพ์บทความ/ส่งสื่อพิมพ์อื่น ๆ ให้กับแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัยมีนาคม 2565

เมื่อวางแผนการดำเนินงานแล้ว ผู้สร้างสรรค์ได้กำหนดขั้นตอนในการดำเนินงาน ดังนี้

     1. การเก็บรวบรวมข้อมูล
          ข้อมูลด้านเอกสาร ดำเนินการเก็บข้อมูลภาคเอกสารจากแหล่งสืบค้นต่าง ๆ ได้แก่ 
               – เอกสารเกี่ยวกับองค์ความรู้เรื่องกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อ.โกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยสืบค้นจากเว็บไซต์การท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคาม เอกสารประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัด และหนังสือเกี่ยวกับงานหัตถกรรม             
               – แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สืบค้นจากฐานข้อมูลงานวิจัย และบทความจากวารสาร
          ข้อมูลภาคสนาม ลงพื้นที่ภาคสนาม ณ ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ทั้งในหมู่บ้านที่มีการทอเสื่อกกและกลุ่มหัตถกรรมกกไทบ้านแพง เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทอเสื่อกกและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

     2. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

            ประชากร  ผู้สร้างสรรค์กำหนดประชากรในการเก็บข้อมูลภาคสนาม ได้แก่ ประชากรชาวตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ที่มีอาชีพทอเสื่อกกทั้งในหมู่บ้านและในกลุ่มหัตถกรรมกกไทบ้านแพง
          กลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยได้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากจำนวนประชากร  ดังนี้ 
               1. คัดลือกโดยวิธีการเลือกแบบสุ่ม ได้แก่ ผู้ทอเสื่อกก จำนวน 2 ครัวเรือน
               2. คัดเลือกโดยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง ได้แก่ นายสุทัศน์ บุตรโคตร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลแพง ผู้รับซื้อเสื่อกกจากผู้ทอเพื่อมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  นางยุพิน สุวรรณคาม และ นางจุฬาพร ศิริโสดา ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ในกลุ่มหัตถกรรมกกไทบ้านแพง

        3. เครื่องมือวิจัย

          1. เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการเลือกแบบสุ่ม ได้แก่ ผู้ทอเสื่อกก จำนวน 2 ครัวเรือน โดยใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วม ใช้กล้องบันทึกภาพในการบันทึกข้อมูล
          2. เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง  ได้แก่ นายสุทัศน์ บุตรโคตร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลแพง ผู้รับซื้อเสื่อกกจากผู้ทอเพื่อมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  นางยุพิน สุวรรณคาม และ นางจุฬาพร ศิริโสดา ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกกไทบ้านแพง  โดยใช้การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ใช้เครื่องบันทึกเสียงและการบันทึกภาพในการบันทึกข้อมูล

       4. การวิเคราะห์ข้อมูล

          ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยนำข้อมูลจากการเก็บข้อมูลที่มีความสอดคล้องกับความมุ่งหมายของการวิจัยให้มากที่สุด จากนั้นจำแนกข้อมูลเป็นหมวดหมู่ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลหาองค์ความรู้เรื่องหัตถกรรมการทอเสื่อกกของกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

       5. กระบวนการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน ชุด ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี

          เมื่อได้องค์ความรู้เรื่องหัตถกรรมการทอเสื่อกกของกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม แล้ว ผู้วิจัยได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการสร้างนวัตกรรมการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานสร้างสรรค์  ชุดฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี โดยมีที่ปรึกษาด้านการสร้างสรรค์การแสดง คือ ดร.ฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2536 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)  ซึ่งในลำดับต่อไปนี้จะใช้แทนผู้วิจัยว่าผู้สร้างสรรค์ โดยกำหนดแนวคิดในการสร้างสรรค์ ดังนี้
               1. ที่มาของแรงบันดาลใจ                                     2. การออกแบบการแสดง
               3. การออกแบบการนำเสนอการแสดง                     4. การออกแบบกระบวนท่ารำ
               5. การออกแบบการแปรแถวและการใช้พื้นที่          6. การใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง
               7. การออกแบบดนตรี                                         8. การออกแบบเครื่องแต่งกาย
               9. การออกแบบการแต่งหน้า                                10. การออกแบบแสงในการแสดง

        6. การเผยแพร่นวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานชุด ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี

          ผู้สร้างสรรค์นำผลงานนวัตกรรมการสร้างสรรค์นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน   ชุด   ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี  เผยแพร่บนเวทีการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 3  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564   ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี (รูปแบบออนไลน์) ผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก หลังจากนั้น ผู้สร้างสรรค์ได้นำผลงาน ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี เผยแพร่ลงในสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านช่องทาง Facebook ส่วนตัวของผู้สร้างสรรค์ ผลปรากฏว่า มีการกดถูกใจ (Like) จำนวน 226 คน การแสดงความคิดเห็นจำนวน 93 รายการ และการแชร์ 5 ครั้ง Facebook เพจสาขานาฏศิลป์และการละคร มีผู้เข้าถึงจำนวน 243 คน การแชร์ 5 ครั้ง และช่องทาง Youtube  ผลปรากฏว่า มีการรับชม 175 ครั้ง กดถูกใจ 11 ครั้ง  ดังลิงค์แนบมานี้ https://www.youtube.com/watch?v=F_ZNPafsfcI

องค์ความรู้/ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการ

     การวิจัยเพื่อนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน  ชุดฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี เพื่อประชาสัมพันธ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นการวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้จากเรื่องหัตถกรรมการทอเสื่อกกบ้านแพง สู่การสร้างนวัตกรรมการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานจากทุนวัฒนธรรมในชุมชน โดยกำหนดรูปแบบการแสดงให้มีความสอดคล้องตามยุคสมัยและเผยแพร่นวัตกรรมสู่สาธารณชนผ่านเวทีการแสดงและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการการประชาสัมพันธ์อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนนวัตวิถี อันจะเป็นประโยชน์ทั้งทางด้านการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน การท่องเที่ยว และด้านการเรียนการสอน รวมถึงการสืบทอดมรดกทางศิลปะการแสดง  โดยมีผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงาน ได้แก่ เล่มรายงานวิจัย และ ผลงานนวัตกรรมการการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน ชุดฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี

การนำไปสู่การไปใช้ประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย

     1. การวิจัยเพื่อนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน ชุดฟ้อนหัตถกรรมนำ
นวัตวิถี เพื่อประชาสัมพันธ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สามารถเป็นแนวทางในการสร้างนวัตกรรมด้านศิลปะการแสดงเพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และพัฒนาองค์กรหรือชุมชนได้
     2. การเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน  ชุดฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี เพื่อประชาสัมพันธ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนทางด้านนาฏศิลป์ได้ทุกระดับ

แนวปฏิบัติที่ดีของผลงาน

     จากการวิจัยเพื่อนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน   ชุด  ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี เพื่อประชาสัมพันธ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ผู้สร้างสรรค์ได้ยึดแนวปฏิบัติตามหลัก PDCA ในการดำเนินงาน ดังนี้
          P (Plan) การวางแผน ผู้สร้างสรรค์วางแผนขอบเขตการดำเนินการทั้งด้านระยะเวลา และขอบเขตการศึกษา เพื่อดูภาพรวมและกระบวนการต่าง ๆในการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม
          D (Do) การนำไปปฏิบัติ เมื่อผ่านขั้นตอนการวางแผนแล้ว ผู้สร้างสรรค์ดำเนินการลงมือปฏิบัติตามแผน เพื่อยึดเป็นกรอบในการดำเนินงาน แต่ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานจริงก็สามารถยืดหยุ่นวันเวลาและรูปแบบการทำงานได้ ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา
          C (Check) การติดตาม ตรวจสอบ วัดผล เมื่อได้ผลงานนวัตกรรมการสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน ชุด ฟ้อนหัตถกรรมนำนวัตวิถี ผู้สร้างสรรค์ได้นำเข้าปรึกษากับที่ปรึกษาด้านการแสดง คือ ดร.ฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2536 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) เพื่อรับข้อแนะนำในการสร้างสรรค์ และทำการปรับปรุงในขั้นตอนต่อไป
          A (Act) การดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขั้นตอนสุดท้ายในการดำเนินงาน เมื่อปรับปรุงผลงานจนเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ผู้สร้างสรรค์ดำเนินการเผยแพร่นวัตกรรมการแสดงสู่สาธารณะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และเก็บข้อแนะนำจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมถึงผู้ชมมาเป็นข้อแก้ไขในการวางแผนการสร้างสรรค์นวัตกรรมครั้งต่อไป แนวปฏิบัติที่ผู้สร้างสรรค์ได้ยึดถือในการทำงานนี้ เป็นกรอบในการดำเนินงานให้ผู้สร้างสรรค์ประสบความสำเร็จจากการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ นอกจากแนวปฏิบัตินี้แล้ว ผู้สร้างสรรค์ยังมี “หลักทางใจ” ที่ใช้ประกอบการทำงาน ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้งานสำเร็จลุล่วง แม้พบเจออุปสรรคก็สามารถแก้ไขให้งานสำเร็จได้ด้วยดี นั่นคือ “เดินคนเดียวอาจเดินได้ไว แต่มีเพื่อนเดินไปจะเดินได้ไกลกว่าเดิม” หมายถึง การมีทีมงานที่ดี ที่ช่วยส่งเสริมและช่วยเหลือเกื้อกูลเสมอ ถึงแม้ว่าผลงานจะเป็นงานเดี่ยว แต่เราไม่สามารถทำทุกสิ่งให้สำเร็จได้ด้วยดีเพียงคนเดียวหากปราศจากผู้สนับสนุน ทั้งสองหลักปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ได้ยึดถือและปฏิบัติเสมอมา (พิมพ์วลัญช์ พลหงษ์, 2565)